หนอนแก้วส้ม (หนอนมะนาว)

หนอนแก้วส้มมีหลาย subspecies แต่ที่พบเห็นกันได้บ่อย ๆ คือ Papillio polytes romulus และ Papillio demoleus malayanus พบได้ทั่วไปทุกบริเวณที่มีการปลูกพืชตระกูลส้ม เมื่อมีการแตกใบอ่อน หนอนของแมลงชนิดนี้กัดกินใบอ่อนและยอดอ่อน การทำลายรวดเร็วมากตามขนาดของตัวหนอน หากระบาดรุนแรงหนอนจะกัดกินจนใบอ่อนหมดทั้งต้นภายใน 2-3 วัน ส้มอาจตายได้ ส่วนใหญ่เป็นปัญหามากับส้มปลูกใหม่ และต้นกล้าในเรือนเพาะชำ

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

ตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อกลางวันขนาดใหญ่ เมื่อกางปีกทั้งสองข้างขนาดประมาณ 7.0-9.0 เซนติเมตร ปีกคู่หน้ามีสีเทาปนดำ และมีจุดสีเหลือง กระจายอยู่ทั่วทั้งสองปีก

ไข่ ผีเสื้อวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ บนใบอ่อนหรือยอดอ่อนของส้ม มีลักษณะเป็นทรงกลมสีเหลืองอ่อน ระยะไข่ 3-4 วัน

ตัวหนอน สีน้ำตาลปนเหลือง เมื่อหนอนโตขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว ขนาดโตเต็มที่ยาวประมาณ 3.5-4.0 เซนติเมตร ระยะหนอนประมาณ 13-25 วัน ลอกคราบ 4-5 ครั้ง

ดักแด้ มีสีเขียวหรือสีน้ำตาล มีเส้นใยเล็กๆ ยึดติดกับกิ่งส้ม ประมาณ 9-12 วัน จึงเป็นตัวเต็มวัย

พืชอาหาร

มะนาว ส้มเขียวหวาน ส้มโอ และพืชตระกูลส้มทุกชนิด

ศัตรูธรรมชาติ

แตนเบียนระยะไข่ ชื่อ Trichogramma papilionides ในระยะดักแด้พบแตนเบียน ชื่อ Pteromalus puparum L. และแมลงวันเบียน ชื่อ Erycia nymphatidophoga Baronoff

การป้องกันกำจัด

1. หมั่นสำรวจในแปลงเมื่อส้มแตกใบอ่อน สามารถเห็นไข่ หนอน หรือดักแด้ ได้ค่อนข้างชัดเจน ให้เก็บทำลายเพื่อเป็นการลดประชากรลง

2. หากพบการระบาดมาก อาจจำเป็นต้องใช้สารเคมี

3. การบังคับให้แตกยอดพร้อมกัน จะช่วยให้สะดวกในการดูแลรักษา และลดต้นทุนในการใช้สารเคมี

21 @สงวนสิขสิทธิ์โดย สวนมะนาวท้ายไร่ จังหวัดพิจิตร