เกษตรกรไทย+internet

ในอดีตจนถึงปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าเกษตรกรไทยต้องประสบปัญหามากมายตั้งแต่เริ่มกระบวนการจนกระทั่งจบกระบวนการในการทำการเกษตร จากการที่ผู้เขียนซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นเกษตรกรมือใหม่ซึ่งได้ทำการปลูกและทำสวนมะนาวเข้าปีที่ 2 จากการที่ไม่มีประสบการณ์ทางด้านการเกษตรเลย แต่ได้ใช้สื่อ internet ในการช่วยเรื่องข้อมูล และมันก็ช่วยได้จริงๆด้วย จากแทนที่จะต้องลองผิดลองถูกหรือสอบถามเกษตรกรที่ปลูกมาเก่าก่อน(แถวนี้ไม่มีใครทำสวนมะนาว) ก็ไม่ต้องเพราะค้นหาข้อมูลทาง internet รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากเพื่อนๆชาวสวนมะนาวออนไลน์

จากการที่ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันทาง internet นั้น(ซึ่งบางคนก็ไม่เคยรู้จักหน้าตากันเลย)ทำให้ได้รับประโยชน์มากมาย ยกตัวอย่างง่ายๆเรื่องการใช้ปุ๋ยหรือยาต่อต้านศัตรูของมะนาว ยาไม่ใช่ว่าจะได้ผลทุกยี่ห้อ หากไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลแล้วละก็อาจทำให้ต้องลองถูกลองผิดเรื่องยาอีกนานกว่าจะลงตัว ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเรื่อยๆ และอาจทำให้ศัตรูของมะนาวขยายตัวเข้ามาทำลายผลผลิตเรามากขึ้น

เกษตรกรสามารถขยายโอกาสทางการตลาดได้กว้างไกลทั่วประเทศ(ไม่ต้องพูดถึงต่างประเทศนะเดี๋ยวฝรั่ง จีน แขก จะงง) ถ้าปกติผู้เขียนเป็นคนที่ไม่ใช้ internet ละก็การทำสวนมะนาวและการตอนกิ่งมะนาวของผู้เขียนก็จะเป็นที่รับทราบกันอยู่แต่ในเขตหมู่บ้านของผู้เขียนเท่านั้น และตลาดจะแคบมากๆ(เน้น) แต่ในทางตรงกันข้ามผู้เขียนเป็นคนใช้ internet เนื่องจากทำงานด้านนี้โดยตรงอยู่แล้ว จึงทำให้โอกาสทางการตลาดกว้างมากโดยคนที่อยู่จังหวัดอื่น สามารถรับรู้ได้ว่ายังมีสวนมะนาวที่มีกิ่งพันธุ์สวยๆของแท้ๆอยู่ที่อีกรายและจำหน่ายในราคาถูกๆ โดยผ่านทางสื่อ internet ยกตัวอย่างเกษตรกรที่สั่งซื้อกิ่งพันธุ์มะนาวของผู้เขียนมีหลากหลายจังหวัดเช่น พังงา, ตราด, อุดรธานี, นครราชสีมา, อ่างทอง, ปทุมธานี, กรุงเทพฯ, ตาก, เชียงราย และอีกหลายๆจังหวัด ซึ่งผู้สั่งซื้อต่างๆเหล่านี้รับทราบและรู้ข้อมูลทาง internet ทั้งนั้น นี่คือการขยายโอกาสทางการตลาดให้กว้างขึ้นแบบมองเห็นภาพอย่างชัดเจน

ผู้เขียนจึงคิดว่าเกษตรกรในสาขาอื่นๆถ้าใช้ internet จะสามารถขยายโอกาสต่างๆหลากหลายด้านในอาชีพการเป็นเกษตรกร ได้มากมายมหาศาล แต่ปัญหาอยู่ที่พวกเขาเหล่านั้นเป็นเกษตรกรรุ่นเก่าที่อาศัยประสบการณ์เพียงอย่างเดียวไม่ได้ทำการเกษตรโดยการอิงข้อมูลแต่ทำการเกษตรโดยประสบการณ์เท่านั้น จึงทำให้นวัตกรรมใหม่ๆเกิดขึ้นยาก หรือเกิขึ้นแล้วไม่มีการเผยแพร่ อีกทั้งปัญหาต่างๆเช่นศัตรูของพืชผลมันมีการพัฒนา วิวัฒนาการ ไปมาก ครั้นจะจับพวกเขาเหล่านั้นมาฝึกใช้ internet ก็ใช่ที แต่ผู้เขียนเข้าใจว่าพวกเขาเหล่านั้นมีลูกหลานที่ใช้ internet เสียส่วนใหญ่ หากลูกหลานเกษตรการเหล่านั้นได้อ่านบทความนี้แล้วช่วยเอา internet ไปประยุกต์หรือผสมผสานกับการทำการเกษตรของเกษตรกรรุ่นเก่าซึ่งเขาเหล่านั้นเป็นพ่อแม่ลุงป้าน้าอา ของคุณนะ ผู้เขียนรับรองว่ามันได้ผลจริงๆ

ยิ่งในปัจจุบันมีสื่อโซเชียลมีเดียร์เช่น เฟสบุ๊ค Line Line@ เป็นต้น ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้แบบถึงตัว รวมไปถึงเว็บไซต์ที่แสดงผลได้ถูกต้องในโทรศัพท์มือถือในยุคปัจจุบัน เจ้าของสวนจึงจำเป็นต้องมีสื่อเหล่านี้ในการทำสวน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเกษตรกรไปแล้ว เกษตรกร 4.0

361 @สงวนสิขสิทธิ์โดย สวนมะนาวท้ายไร่ จังหวัดพิจิตร