การจำแนกลักษณะพันธุ์ของ มะนาวโดยการศึกษาวิจัย

ในการศึกษาและจำแนกลักษณะประจำพันธุ์ของมะนาวได้คัดเลือกมะนาว จำนวน 8 พันธุ์คือ แป้นพวง, แป้นรำไพ, สีคิ้ว 1, ด่านเกวียน, ตาฮิติ (น้ำหอมทูลเกล้า), ตาฮิติ (เขาหินซ้อน), เลมอนเชียงใหม่ และมะนาวควาย. จากการจำแนกพบว่า มะนาวพันธุ์แป้นพวง, แป้นรำไพ, สีคิ้ว 1, ด่านเกวียน, ตาฮิติ (น้ำหอมทูลเกล้า) และตาฮิติ (เขาหินซ้อน) จัดอยู่ในพวก Acid limes (Citrus aurantifolia), ส่วนเลมอนเชียงใหม่และมะนาวควายจัดอยู่ในพวก Lemon (Critrus limon) และ Citron (Citrus medica) ตามลำดับ โดยมะนาวพันธุ์แป้นพวง, แป้นรำไพ และสีคิ้ว 1 จัดอยู่ในกลุ่มมะนาวเม็กซิกัน. มะนาวด่านเกวียนจัดอยู่ในกลุ่มมะนาวแมนดารินและพันธุ์ตาฮิติ (น้ำหอมทูลเกล้า) กับ ตาฮิติ (เขาหินซ้อน) จัดอยู่ในกลุ่มมะนาวตาฮิติ.

ผลของการศึกษาลักษณะทางกายภาพและการพัฒนาของดอกและผลมะนาวแป้นพวง, แป้นรำไพ, สีคิ้ว 1, ด่านเกวียน, ตาฮิติ (น้ำหอมทูลเกล้า), ตาฮิติ (เขาหินซ้อน) และเลมอนเชียงใหม่พบว่ามีจำนวนดอกต่อช่อใกล้เคียงกัน คือ ตั้งแต่ 3 - 6 ดอกต่อช่อ โดยพันธุ์ตาฮิติ (เขาหินซ้อน) มีจำนวนดอกต่อช่อน้อยที่สุดเฉลี่ย 3 ดอกต่อช่อ, ในขณะที่พันธุ์สีคิ้ว 1, เลมอนเชียงใหม่ และแป้นรำไพมีจำนวนดอกต่อช่อสูงกว่า คือ มีค่าเฉลี่ย 6, 6 และ 6 ดอกต่อช่อตามลำดับ. ส่วนการติดผลเมื่อเทียบกับดอกอยู่ในช่วง 4-25 เปอร์เซ็นต์ โดยเลมอนเชียงใหม่, แป้นรำไพ และแป้นพวงมีการติดผลค่อนข้างต่ำเฉลี่ย 4.50, 5.21 และ 5.43 เปอร์เซ็นต์. พันธุ์ที่มีเปอร์เซ็นต์การติดผลสูงคือ พันธุ์ตาฮิติ (เขาหินซ้อน) และด่านเกวียน โดยมีการติดผลจนถึงผลแก่สูงถึง 20.39 และ 25.23 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ.

ขนาดและน้ำหนักของผล พบว่าเลมอนเชียงใหม่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ มีขนาด (กว้าง X ยาว) เฉลี่ย 63.54 X 79.94 ซม., รองลงมา ได้แก่ ตาฮิติ (เขาหินซ้อน) 55.29 X 60.19 ซม. โดยพันธุ์แป้นรำไพมีขนาดเล็กที่สุด คือ มีขนาด 43.58 X 37.60 ซม.

พันธุ์ที่มีน้ำหนักผลสูงที่สุด คือ เลมอนเชียงใหม่เฉลี่ย 225.00 กรัม/ผล รองลงมา คือ สีคิ้ว 1, ด่านเกวียน, ตาฮิติ (เขาหินซ้อน), ตาฮิติ (น้ำหอมทูลเกล้า), แป้นรำไพ โดยมีน้ำหนักเฉลี่ย 118.50, 128.40, 98.40, 86.40 และ 84.40 กรัม/ผล ตามลำดับ. พันธุ์ที่มีน้ำหนักต่อผลน้อยที่สุด คือ แป้นพวง เฉลี่ย 43.70 กรัม/ผล.

ด้านปริมาณน้ำและเปอร์เซ็นต์น้ำต่อผล พบว่าพันธุ์ที่มีปริมาณน้ำต่อผลสูงที่สุด คือ เลมอนเชียงใหม่เฉลี่ย 198.55 มล./ผล, รองลงมา คือ ตาฮิติ (เขาหินซ้อน), สีคิ้ว 1, ตาฮิติ (น้ำหอมทูลเกล้า), ด่านเกวียน, แป้นรำไพ และแป้นพวง โดยมีปริมาณน้ำต่อผลเฉลี่ย 65.50, 55.60, 38.40, 37.30, 35.20 และ 22.42 มล./ผล ตามลำดับ.

พันธุ์ที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำต่อผลสูงที่สุด คือ ตาฮิติ (เขาหินซ้อน) 80.60 เปอร์เซ็นต์, รองลงมาได้แก่ เลมอนเชียงใหม่, สีคิ้ว 1, แป้นรำไพ, ด่านเกวียน และแป้นพวง โดยมีเปอร์เซ็นต์น้ำต่อผล 79.51, 75.70, 75.12, 71.34 และ 47.99 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ. พันธุ์ที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำต่อผลน้อยที่สุด คือ พันธุ์ตาฮิติ (น้ำหอมทูลเกล้า) 45.00 เปอร์เซ็นต์

สำหรับการศึกษาปริมาณต่อมน้ำมัน (oil grand) พบว่า พันธุ์ที่มีปริมาณต่อมน้ำมันต่อพื้นที่ผิวสูงสุด คือ พันธุ์แป้นพวง 102 ต่อมต่อตารางเซนติเมตร, รองลงมา คือ สีคิ้ว 1, เลมอนเชียงใหม่, ตาฮิติ (น้ำหอมทูลเกล้า), ตาฮิติ (เขาหินซ้อน) และแป้นรำไพ โดยมีปริมาณต่อมน้ำมัน 95, 93, 72, 72 และ70 ต่อมตารางเซนติเมตรตามลำดับ. พันธุ์ที่มีปริมาณต่อมน้ำมันต่อพื้นที่ผิวต่ำที่สุด คือ ด่านเกวียน 69 ต่อมต่อตารางเซนติเมตร.

จากการศึกษาครั้งนี้อาจกล่าวได้ว่ามะนาวแป้นพวงและแป้นรำไพยังคงเป็นมะนาวที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจโดยเป็นมะนาวเพื่อการบริโภคสดเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่มีคุณสมบัติด้านรูปร่าง, ขนาด, สี, กลิ่น และรสตรงตามความนิยมของผู้บริโภค. ส่วนมะนาวพันธุ์ด่านเกวียนมีความเหมาะสมต่อการนำมาใช้ประโยชน์เป็นมะนาวพร้อมดื่ม เนื่องจากมีเปลือกบาง คั้นน้ำได้ง่ายและน้ำมีสีส้มอ่อนๆ คล้ายส้ม; มะนาวพันธุ์สีคิ้ว 1 เป็นพันธุ์ใหม่ที่มีศักยภาพเหมาะสมที่จะปลูกเป็นมะนาวเพื่อการบริโภคสดและในผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องด้านการผลิตน้ำหอมปรับอากาศ เนื่องจากมีคุณสมบัติพิเศษของน้ำมันที่ผิวเปลือกแตกต่างจากพันธุ์อื่นๆ. พันธุ์ตาฮิติ (น้ำหอมทูล-เกล้า) เหมาะสมที่จะเป็นทั้งมะนาวบริโภคสดและน้ำมะนาวพร้อมดื่ม หรือใช้ทดแทนมะนาวพันธุ์หลักในฤดูขาดแคลน. มะนาวพันธุ์ตาฮิติ (เขาหินซ้อน) เป็นมะนาวที่มีศักยภาพและความเหมาะสมสำหรับปลูกเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเพราะมีการนำผลผลิตไปใช้ประโยชน์ในการผลิตยาสระผม, น้ำยาล้างจาน, มะนาวดองและแปรรูปเป็นของขบเคี้ยว โดยเป็นพันธุ์ที่โตเร็ว มีเปอร์เซ็นต์การติดผลสูง, ให้ผลดก, ผลมีขนาดใหญ่, มีเปอร์เซ็นต์น้ำต่อผลสูงถึง 79.5 เปอร์เซ็นต์ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ผลอ่อนขนาดเล็กถึงผลแก่. สำหรับเลมอนเชียงใหม่ นอกจากเหมาะสมในการประโยชน์เป็นต้นตอแล้ว ยังมีความเป็นไปได้สูงที่จะนำมาใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับมะนาวตาฮิติ (เขาหินซ้อน), ส่วนมะนาวควายไม่เหมาะสมสำหรับการบริโภค แต่อาจใช้ประโยชน์เป็นต้นตอเช่นเดียวกับเลมอนเชียงใหม่.

413 @สงวนสิขสิทธิ์โดย สวนมะนาวท้ายไร่ จังหวัดพิจิตร