หนอนชอนใบมะนาว

หนอนชอนใบมะนาวกัดกินชอนไชอยู่ในระหว่างผิวใบบริเวณที่ถูกทำลายเห็นเป็นฝ้าขาวปรากฏเป็นทางวกไปวนมาถ้าหนอนชอนใบมะนาวระบาดรุนแรงจะทำลายกิ่งอ่อนและผลอ่อน มีผลทำให้ต้นมะนาวต้นเล็กชะงักการเจริญเติบโต

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

ตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กมาก ความกว้างเมื่อกางปีกออกทั้งสองข้างประมาณ 6.0 - 8.0 มิลลิเมตร ลำตัวสีนวล แวววาว เพศเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ บริเวณใกล้เส้นกลางใบ ส่วนใหญ่จะพบด้นใต้ใบมากกว่าด้านบนใบ

ไข่ มีลักษณะคล้ายหยดน้ำ สีเหลืองอมเขียวใส

หนอน ออกจากไข่แล้วจะเจาะเข้าใต้ผิวใบทันที หนอนสีเหลืองอ่อน จนเหลืองเข้ม ระยะสุดท้ายจะถักใยยึดริมขอบใบพับมาคลุมตัวแล้วเข้าดักแด้

ดักแด้ สีเหลืองเข้มจนถึงน้ำตาล มีหนามแหลมที่ปลายส่วนหัว อยู่ในบริเวณทรงพุ่มของต้นส้ม อาจพบตามพงหญ้าใต้ต้นด้วย

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

หนอนชอนใบมะนาว เป็นแมลงศัตรูสำคัญที่ทำความเสียหายในระยะแตกใบอ่อน โดยหนอนกัดกินชอนไชอยู่ในระหว่างผิวใบ หนอนทำลายด้านใต้ใบมากกว่าบนใบ บริเวณที่ถูกทำลายเห็นเป็นฝ้าขาวปรากฏเป็นทางวกไปวนมา ใบมีลักษณะบิดงอลงทางด้านที่มีหนอนทำลายและรอยทำลายที่เกิดขึ้นกลายเป็นช่องทางให้เชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas camprestris pv.citri เข้าทำลายซ้ำเติมทำให้มะนาวเป็นโรคสะเก็ดแห้ง ถ้าหนอนชอนใบมะนาวระบาดรุนแรงจะทำลายกิ่งอ่อนและผลอ่อน มีผลทำให้ต้นมะนาวต้นเล็กชะงักการเจริญเติบโต

การแพร่ระบาด

ระบาดมากในช่วงฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม - กันยายน ทำลายประมาณ 90 - 100 % ในขณะที่เดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์มียอดอ่อนถูกทำลาายประมาณ 20 %

พืชอาหาร

พืชตระกูลส้มทุกชนิด

ศัตรูธรรมชาติ

1. แมลงห้ำ 2 ชนิด คือ แมลงช้างปีกใส มด

2. แตนเบียน 13 ชนิด ที่พบเป็นประจำ 3 ชนิด ได้แก่

2.1 Ageniaspis citricola Logvinoslaya ทำให้หนอนชอนใบส้มตายในระยะดักแด้ 22 - 62 % เป็นแตนที่พบมากที่สุด

2.2 Cirrospillus ingenuus ( Subba Rao &Ramamani ) เป็นแตนเบียนในระยะดักแด้

2.3 Quadrastichus sp. ทำให้หนอนตายในวันที่ 3 -4

การป้องกันกำจัด

1. เก็บใบมะนาวที่ถูกหนอนชอนใบมะนาวทำลาย นำไปเผาทำลาย

2. หมั่นสำรวจหนอนในระยะมะนาวแตกใบอ่อน การสุ่มสำรวจ

2.1 สำรวจ 10 -20 ต้น ต่อสวน

2.2 สำรวจต้นละ 5 ยอด

2.3 ยอดละ 5 ใบ ถ้าพบ 3 ใบหรือมากกว่าถือว่ายอดนั้นถูกทำลาย ถ้ามียอดถูกทำลายเกินกว่า 50 % ต้องทำการป้องกันกำจัด

3. สารเคมีที่ใช้ในการกำจัด ได้แก่

3.1 ฟลูเฟนนอกซูรอน ( flufennoxuron ) เช่น แคสเคด 5 % EC อัตรา 6 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

3.2 อิมิดาโครปริด ( imidacloprid ) เช่น คลอฟิดอร์ 10 % SL อัตรา 8 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบพ่นให้ทั่วทั้งด้านหน้าใบและหลังใบ ถ้ายังสำรวจพบการระบาดของหนอนชอนใบส้มให้พ่นซ้ำ

3.3 อะบาแมกติน 10-15 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร

219 @สงวนสิขสิทธิ์โดย สวนมะนาวท้ายไร่ จังหวัดพิจิตร