ความเป็นกรด-ด่าง ของดิน

ความเป็นกรดของดินมีความสำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโตของพืช เนื่องจากสภาพของความเป็นกรด-ด่างของดินเกี่ยวข้องกับระดับธาตุในดินที่พืชจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ การบอกสภาพความเป็นกรด-ด่างของดินจะบอกเป็นค่าพีเอช ซึ่งมีค่าระหว่าง 1 ถึง 14 โดยมีสภาพความเป็นกลางของดิน จะอยู่ที่ 7.0

เมื่อค่าพีเอชที่วัดได้ในดินต่ำกว่า 7.0 จะบอกสภาพความเป็นกรด ถ้ามีค่าต่ำกว่า 7.0 มากเท่าใด ความเป็นกรดก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้น ดินที่เป็นกรดรุนแรงจะเป็นตัวบอกว่าดินจะมีระดับธาตุอาหารบางธาตุที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ค่อนข้างต่ำ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม รวมทั้งโพแทสเซียมด้วย

ดินที่มีค่าพีเอชสูงกว่า 7.0 จะบอกสภาพความเป็นด่าง ทำนองเดียวกันยิ่งมีค่ามากขึ้นก็ยิ่งเป็นด่างมากขึ้น การที่ดินมีพีเอชสูงกว่า 8.5 มักจะมีแคลเซียมต่ำ เนื่องจากดินจะมีธาตุโซเดียมอยู่มากเกินไปจนทำให้พืชเกิดอาการขาดแคลเซียมและแมกนีเซียมได้ ดินทั่วไปจะมีระดับแคลเซียมและแมกนีเซียมเพียงพอ แต่ถ้าดินมีพีเอชต่ำกว่า 5.5 หรือสูงกว่า 8.5 พืชจะแสดงอาการขาดแคลเซียมและแมกนีเซียมได้

โดยทั่วไปยางพาราสามารถเจริญเติบโตได้ในดินที่มีความเป็นกรด-ด่าง ระหว่าง 3.8 - 6 อย่างไรก็ตามยางพาราชอบดินที่เป็นกรด ความเป็นกรด - ด่าง ของดินที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 4.5 - 5.5 ดังนั้นดินปลูกยางส่วนใหญ่จึงมักมีธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม และโพแทสเซียมต่ำ ธาตุฟอสฟอรัสอยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่ำ ส่วนจุลธาตุ เช่น เหล็ก แมงกานีส สังกะสี ทองแดง และโบรอน จะเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ดีจนถึงขั้นอาจเป็นพิษได้ ส่วนโมลิบดินัม ละลายได้ดีในสภาพดินที่เป็นกรดเล็กน้อย หากความเป็นกรด- ด่างของดินต่ำกว่า 4.5

ความสามารถในการละลายของธาตุอาหารในดินจะต่ำถึงต่ำมาก ยกเว้นเหล็ก และแมงกานีสในดินจะละลายเป็นประโยชน์ต่อต้นยางได้ดี จนอาจเป็นพิษ และหากความเป็นกรด- ด่างของดินสูงกว่า 8.5 ในสภาพดินที่เป็นด่างหรือดินเค็ม จุลธาตุอาหารจะเป็นประโยชน์ต่อพืชได้น้อยจนเกิดการขาด ซึ่งการขาดจุลธาตุเหล่านี้จะสัมพันธ์กับการเกิดโรคของยางพาราทำให้ต้นยางไม่ต้านโรค นอกจากนี้ฟอสเฟตในดินที่พืชจะใช้ประโยชน์ได้จะลดลงด้วย เนื่องจากฟอสเฟตถูกตรึงโดยแคลเซียมและแมกนีเซียม และหากดินมีโซเดียมมากเกินไป จะทำให้พืชขาดแคลเซียมและแมกนีเซียมได้

288 @สงวนสิขสิทธิ์โดย สวนมะนาวท้ายไร่ จังหวัดพิจิตร