การจัดการธาตุอาหาร พืช
จากอดีตที่ผ่านมาคำแนะนำการให้ปุ๋ยในไม้ผลที่มีการแนะนำและอ้างอิงต่อกันมาเรื่อยๆนั้นนับว่าไม่ถูกต้องนัก เพราะในอดีต ไม่มีผลงานวิจัยที่ชัดเจนมาก่อนว่าไม้ผลที่ปลูกในเมืองไทยแต่ละชนิดมีความต้องการธาตุอาหารพืชอย่างไรบ้าง จึงได้มีคำแนะนำกลางๆ สำหรับการใส่ปุ๋ยไม้ผลทุกชนิด ทุกพื้นที่ ด้วยสูตรเดียวกัน เช่น ช่วงบำรุงต้น แนะนำให้ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ช่วงก่อนออกดอกแนะนำให้ใช้ปุ๋ยสูตรที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น 8-24-24 หรือ 9-24-24 ช่วงบำรุงผลแนะนำให้ใช้ปุ๋ยสูตรที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น 13-13-21 หรือ 12-12-27+2Mg ในเรื่องนี้
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการจัดการธาตุอาหารพืชได้กล่าวไว้ว่า พืชแต่ละชนิดจะมีความต้องการธาตุอาหารพืชที่แตกต่างกัน ดินปลูกไม้ผลแต่ละแหล่งมีองค์ประกอบและคุณสมบัติของดินที่ต่างกันไป ดังนั้นคำแนะนำ การจัดการธาตุอาหารพืชจึงควรจะต้องแตกต่างกันไปด้วย ซึ่งวิธีการที่ตัดสินใจใช้ปุ๋ยหรือจัดการธาตุอาหารพืชอย่างถูกต้องนั้น ควรจะมีการตรวจวิเคราะห์ดินและพืช เพื่อให้ทราบสถานภาพที่แท้จริงว่า ดินมีธาตุอาหารแต่ละอย่างมากน้อยแค่ไหน และดินอยู่ในสภาพที่เอื้ออำนวยให้ธาตุอาหารที่มีอยู่เป็นประโยชน์ต่อพืชหรือไม่ แต่การวิเคราะห์ดินเพียงอย่างเดียวไม่สามารถบอกได้ว่าพืชจะดูดอาหารไปใช้ได้อย่างสมดุลย์หรือไม่ จึงมีความจำเป็นที่ต้องวิเคราะห์ใบพืชด้วย ประเด็นที่สำคัญที่นักวิจัยทุกรายได้กล่าวไว้สอดคล้องกัน คือ พืช (ไม้ผล) มีความต้องการฟอสฟอรัสในสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการไนโตรเจนและโพแทสเซียม การที่ชาวสวนไม้ผลใส่ปุ๋ยอัตรา 1:1:1 เช่นปุ๋ยสูตร 15-15-15 นั้นแสดงว่าใส่ฟอสฟอรัสมากเกินความจำเป็น มิหนำซ้ำในช่วงก่อนออกดอกยังมีการใส่ปุ๋ยสูตรที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น 8-24-24 หรือ 9-24-24 โดยที่ไม่เคยมีผลงานวิจัยใดๆพิสูจน์มาก่อนว่าฟอสฟอรัสมีบทบาทในการกระตุ้นการออกดอก ซึ่งการใส่ปุ๋ยที่ผิดดังกล่าวนอกจากจะทำให้สิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุแล้ว ปุ๋ยฟอสฟอรัสที่มากเกินจำเป็นและเหลือตกค้างอยู่ในดินเป็นปริมาณมาก ก็จะไปจับกับจุลธาตุทำให้จุลธาตุอยู่ในรูปที่พืชดูดไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ พืชจึงแสดงอาการขาดจุลธาตุนั้นตามไปด้วย เกษตรกรก็แก้ปัญหาด้วยวิธีการให้ปุ๋ยทางใบแทน เป็นการเพิ่มต้นทุนยิ่งขึ้นไปอีก
จะเห็นว่าการจัดการธาตุอาหารพืชให้เหมาะสมเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากและสลับซับซ้อน การจัดการที่ไม่ถูกต้องจะทำให้เกษตรกร สูญเสียเงินซื้อปุ๋ย มีผลเสียต่อสุขภาพและการให้ผลผลิตของพืช และมีผลกระทบต่อคุณสมบัติของดินด้วย วิธีการแก้ปัญหาที่ดี คือ ควรมีการวิเคราะห์ดินและใบพืช เพื่อนำไปวางแผนใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เรื่องนี้จัดเป็นเรื่องใหม่ในวงการไม้ผลของไทย และในขณะเดียวกัน จำนวนห้องปฏิบัติการที่จะให้บริการตรวจวิเคราะห์ หรือจำนวนผู้เชี่ยวชาญที่จะให้คำแนะนำได้อย่างชัดเจน มีค่อนข้างน้อย ในสถานการณ์เช่นนี้จึงเห็นว่า การให้ความรู้และข้อมูลเป็นสิ่งที่จำเป็นในอันดับแรก เมื่อนักส่งเสริมและเกษตรกรมีความรู้และมีข้อมูลเพียงพอแล้วย่อมจะตัดสินใจเลือกวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมได้ ผู้ที่มีความพร้อมก็สามารถรับไปดำเนินการได้ทันที ส่วนผู้ที่ยังไม่มั่นใจหรือยังไม่มีความพร้อมด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม ก็อาจนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมของตนต่อไป ทั้งนี้ไม่ว่าเกษตรกร จะจัดการธาตุอาหารพืชในสวนไม้ผลด้วยวิธีการใดก็ตาม สิ่งที่ท่านจะต้องตระหนักอยู่เสมอคือ ต้นไม้ผลในสวนจะต้องมีความแข็งแรงสมบูรณ์และสามารถให้ผลผลิตในปริมาณและคุณภาพที่ดี ภายใต้การจัดการต้นทุนที่เหมาะสม
1.1k @สงวนสิขสิทธิ์โดย สวนมะนาวท้ายไร่ จังหวัดพิจิตร