เกษตรกรมือใหม่ ปลูกมะนาว เพื่อการค้า เลือกสายพันธุ์ไหนดี

มะนาวเมื่อปลูกแล้วประมาณ 1 ปีจึงจะให้ผลผลิตดังนั้นในปีแรกการลงทุนยิ่งปลูกมากยิ่งต้องลงทุนดูแลมากตามไปด้วย และหากเมื่อมะนาวให้ผลผลิตแล้วตลาดไม่ยอมรับก็จะกลายเป็นขาดทุนและหากกู้หนี้ยืมสินมาลงทุนด้วยแล้วจะทำให้เกิดผลกระทบตามมามากมายดังนั้นในการปลูกเราต้องศึกษาตลาดก่อนเป็นอันดับแรกว่าในท้องถิ่นที่เราปลูกนั้นแม่ค้านิยมรับซื้อมะนาวพันธุ์อะไรแบบไหนอย่างไร ลองมาฟังนานาทัศนะคติของผู้ปลูกมะนาวหลายๆรายที่ผู้เขียนเคยพูดคุยด้วยเพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกมะนาวมือใหม่ทั้งหลายได้เป็นแนวทางต่อไป

- เกษตรกรบ้านท่าบัว อ.โพทะเล จ.พิจิตร กล่าวว่า ที่ท่าบัวมีแม่ค้ารับซื้อมะนาวอยู่ประมาณ 10 เจ้า ใช้เครื่องคัดแยกขนาดฟรี แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีเท่าไหร่แม่ค้ารับซื้อหมดไม่เคยมีมะนาวล้นตลาด แต่สายพันธุ์ที่ซื้อต้องเป็น แป้นพวง หรือแป้นรำไพ เท่านั้นส่วนพันธุ์อื่น ถ้าไม่มีผลผลิตจริงแล้วจึงจะซื้อหรือถ้าซื้อราคาก็จะถูกกว่าเช่นแป้นพิจิตร 1 โดยให้เหตุผลว่าถึงแม้จะทนโรคแต่เปลือกหนา เมล็ดแยะ และที่สำคัญกลิ่นจะเหมือนส้มโอ

- เกษตรกร บ้านน้ำโค้ว อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ปลูกมะนาวพิจิตร 1 ประมาณ 500 ต้น ผลผลิตไม่ดีเนื่องจากขาดการดูแลที่ดีทำให้ผลผลิตน้อยผิดปกติ ปีที่ผ่านมาจำหน่ายมะนาวได้ประมาณ 3-4 หมื่นบาท เท่านั้นเองโดยขายส่งตามร้านค้าทั่วไปในพื้นที่ ไม่ได้ขายส่งกับแม่ค้า จากการสังเกตุพบว่าที่ใบและผลติดโรคแคงเกอร์มาก แต่ที่ต้นไม่พบแคงเกอร์อาจจะเป็นด้วยสายพันธุ์ที่ทนต่อโรคแคงเกอร์ แต่ที่เกิดโรคเนื่องจากขาดการดูแลที่ถูกต้อง

- เกษตรกร ต.ท่ายาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี สำหรับที่นี่มีตลาดกลางมะนาวที่ค่อนข้างใหญ่มากคือตลาดหนองบ้วย จากการเข้าไปพบปะพูดคุยกับแม่ค้าและเกษตรกรผู้ปลูกมะนาวพบว่าที่นี่ต้องเป็น แป้นรำไพกับแป้นพวงเท่านั้น สายพันธุ์อื่นไม่เป็นที่นิยมเลยทีเดียว ดังนั้นพื้นที่นี้เน้นแป้นรำไพกับแป้นพวง เท่านั้น

- เกษตรกร ต.ทุ่งหลวง อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย ที่นี่นิยมปลูกมะนาวตาฮิติกันเป็นส่วนมากเพราะปลูกกันมานานและที่สำคัญมีแม่ค้ารายใหญ่จะรับซื้อผลผลิตเพื่อทำการส่งออกเท่านั้น โดยเป็นพันธุ์ที่คนไทยไม่นิยมหากปลูกเพื่อการค้าแล้วต้องมีแม่ค้าที่ทำการส่งออกรับซื้อเพราะขายในประเทศคงลำบาก

- เกษตรกร ต.สะพลี อ.ปะทิว จ.ชุมพร เกษตรกรรายนี้น่าเห็นใจเพราะลงทุนปลูกมะนาวพันธุ์พิจตร1 โดยไม่เคยมีพื้นฐานการปลุกมะนาวมาก่อนจึงเลือกพันธุ์ที่ทนโรคตามข้อมูลที่ได้รับมา ปลูกจำนวน 400 ต้น และซื้อกิ่งพันธุ์มาต้นละ 150 บาท เมื่อรวมระบบน้ำค่ากิ่งพันธุ์และค่าใช้จ่ายอื่นๆในการลงทุนประมาณมาณ หนึ่งแสนสี่หมื่นบาท เมื่อมะนาวให้ผลผลิตปรากฏว่าขายผลผลิตยากเนื่องจากผลของมะนาวมีเมล็ดแยะ เปลือกหนา และใส้แกนกลางแยะ ปัจจุบันปลูกมาได้เข้าปีที่ 2 และเริ่มโค่นทิ้งไปบางส่วนเพื่อทยอยปลูกมะนาวพันธุ์แป้นรำไพ นี่คือข้อผิดพลาดที่ไม่ศึกษาตลาดก่อน

จากนานาทัศนะคติต่างๆสรุปได้ว่าเกษตรกรมือใหม่ควรบริโภคข้อมูลทุกด้าน ทุกสายพันธุ์ให้ถ่องแท้รุ้จริงก่อนลงมือปลูกต้องศึกษาตลาดในเขตของเราว่าสายพันธุ์ไหนที่ขายได้ในเขตของเรา เพราะเมื่อปลูกไปแล้วหากขายผลผลิตไม่ได้หรือได้ในราคาที่ต่ำมากจะทำให้เราขาดทุนในที่สุดก็ต้องเลิกอาชีพนี้ไป

ปัจจุบันมีมะนาวสายพันธุ์ใหม่ๆดีเกิดขึ้นบ้างแล้วเช่นแป้นพิจิตร2 ที่แก้ปัญหาเรื่ิงเมล็ดแยะเปลือกหนาเป็นเมล็ดน้อยเปลือกบาง หรือแป้นรำไพ2 ที่สามารถทนโรคได้ดีกว่าแป้นรำไพธรรมดา

3.5k @สงวนสิขสิทธิ์โดย สวนมะนาวท้ายไร่ จังหวัดพิจิตร