การผลิตมะนาวนอกฤดู
ในอดีตที่ผ่านมา การตลาดมะนาวในประเทศไทยมีรูปแบบการผลิตทีไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมแต่อย่างใด คือ จะมีผลผลิตของมะนาวออกมาเป็นจำนวนมากในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน ทำให้ราคาของมะนาวที่จำหน่ายในช่วงนั้นค่อนข้างต่ำถึงต่ำที่สุด แต่ถ้าในช่วงเดือนธันวาคมเป็นต้นไป ราคาของมะนาวจะมีราคาค่อยๆสูงขึ้น และจะมีราคาแพงที่สุดในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนของทุกปีทั้งนี้เนื่องมาจากในช่วงเวลาดังกล่าวปริมาณของมะนาวที่เข้าสู่ตลาดมีน้อยมากนั่นเอง
วิธีแก้ปัญหามะนาวล้นตลาดหรือมะนาวราคาถูกในระยะยาววิธีหนึ่ง คือ ควรจะมีการวางแผนการผลิตมะนาวทั้งในฤดูกาลและนอกฤดูกาล ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้ทั้งเกษตรกรและนักวิชาการได้พยายามที่จะค้นคว้าและศึกษาถึง วิธีการผลิตมะนาวในฤดูแล้ง หรือที่เรียกกันว่า การผลิตมะนาวนอกฤดูนั้นจะต้องใช้วิธีการหลายๆ วิธีมาประกอบกันนั่นเอง
แม้ว่า "มะนาว" จะเป็นพืชที่ปลูกง่ายก็จริง แต่ว่าจะขาดน้ำไม่ได้เลย โดยเฉพาะการผลิตมะนาวนอกฤดู จะต้องมีน้ำอย่างเพียงพอ เพราะมะนาวต้องใช้น้ำเพื่อการเจริญเติบโตและเป็นส่วนสำคัญในการสร้างดอกและผล ดังนั้นในขั้นตอนการผลิตมะนาวฤดู "น้ำ" จึงนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ โดยทั่วไปในฤดูกาลผลิตมะนาว ผลมะนาวจะมีอายุตั้งแต่ดอกบานจนถึงเก็บเกี่ยว ระหว่าง 4 เดือนครึ่งถึง 5 เดือนครึ่ง โดยเปลือกจะเริ่มบางลง ซึ่งผลมีขนาดโตพอที่จะเก็บเกี่ยวได้แล้ว และเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง เมื่ออายุ 5 เดือน และผลมะนาวจะมีสีเหลืองสดในในระยะสุดท้ายก่อนร่วงหล่นไป ด้วยเหตุนี้ผลมะนาวจึงมีช่วงอายุการเก็บเกี่ยวที่ยืดหยุ่นบนต้นได้ นานประมาณ 1 เดือน
อย่างไรก็ตามในช่วงฤดูหนาว เดือนธันวาคมหรือมกราคมนั้น ผลมะนาวจะมีการเปลี่ยนแปลงสีที่รวดเร็วมากจึงทำให้ผลสุกและร่วงได้เร็วขึ้น ต้นมะนาวมีดอกชุดสุดท้ายประมาณปลายเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม ผลมะนาวชุดนี้จะเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปซึ่งว่าเป็นช่วงฤดูกาลปกติต้นมะนาวจะมีดอกที่เป็นชุดใหญ่อีกครั้ง ประมาณปลายเดือนมีนาคมและเมษายน การเก็บเกี่ยวผลมะนาวในรุ่นนี้จะตรงกับช่วงเดือนกรกฎาคมและมีการออกดอกอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ซึ่งการเก็บเกี่ยวผลผลิตจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคมและมกราคม ช่วงนี้จะเป็นช่วงปลายฤดูกาลของมะนาว จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาของมะนาว เริ่มขยับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไป ดังนั้นหากเกษตรกรต้องการผลิตมะนาวนอกฤดูกาล จะต้องหลีกเลี่ยงหรือสร้างจุดเหลื่อม หรือใช้วิธีการยังยั้งช่วงการออกดอกทั้ง 2 ช่วงนี้
หลักของการผลิตมะนาวนอกฤดู ก็คือ ต้องหาวิธีการบังคับให้มะนาวออกดอกนอกฤดูให้ได้มะนาวจะมีการออกดอกได้ดี ต่อเมื่อผ่านช่วงของความแล้งมาสักระยะหนึ่งโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 20 ถึง 30 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่ขนาดของทรงพุ่มต้นของมะนาวและสภาพของดินบริเวณต้น ถ้าหากเป็นดินปนทรายจะได้เปรียบมากกว่าดินเหนียวเพราะว่าสามารถชักนำให้เกิดความแล้งได้เร็วกว่า ส่วนเรื่องของการปฏิบัติดูแลรักษา เช่น การตัดแต่งกิ่ง การกำจัดวัชพืชใต้พุ่มต้น ระยะที่ใช้ปลูกมะนาว ฯลฯต่างๆ เป็นต้น หากมีการนำวิธีการต่างๆ เหล่านี้มาใช้ร่วมกัน ก็จะเป็นการช่วยชักนำให้การผลิตมะนาวนอกฤดูมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้หากต้นมะนาวมีสภาพต้นที่สมบูรณ์แล้วละก็มะนาวก็สามารถที่จะออกดอกได้ดียิ่งขึ้นแม้ว่าจะไม่มีช่วงแล้งก็ตามโดยอาจจะพบการออกดอกแบบดอกที่เกิดพร้อมกับปลายยอดอ่อนที่ผลิใหม่หรือดอกที่เจริญมาจากตาข้างของใบที่แก่หรือใบที่มีอายุมากแล้ว ดังนั้นหากต้องการให้กิ่งซึ่งมีการออกดอกในช่วงที่ต้องการตามที่กำหนดไว้ ก็จำเป็นจะต้องกำจัดดอกหรือผลอ่อนในกิ่งเหล่านั้นออกไปเสียก่อน
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า "วิธีการบังคับให้มะนาวออกดอก" มีหลายวิธีด้วยกัน เช่นวิธีการเด็ดยอดเพื่อให้แตกกิ่งใหม่ รูดใบเก่าทิ้ง เพื่อให้แตกใบใหม่ ใช้มีดฟันโคนต้นหรือใช้ลวดเล็กๆ รัดที่โคนต้น วิธีการรมควันไฟให้ใบร่วง ใช้น้ำอุ่นจัดฉีดให้ใบร่วง และวิธีการงดการให้น้ำให้ใบเหี่ยว การตัดแต่งกิ่งหรือตัดปลายกิ่งยาวประมาณ 1-2 นิ้ว โดยตัดปลายกิ่งทั้งต้นหลังจากนั้นจึงใส่ปุ๋ยเคมีเพื่อกระตุ้นการออกดอก วิธีการใช้ปุ๋ยยูเรีย 5 % ละลายน้ำฉีดไปที่ทรงพุ่มมะนาวให้ใบร่วง และวิธีการรมควันไฟให้ใบร่วง ฯลฯ วิธีการเหล่านี้จะทำให้มะนาวทรุดโทรมและตายได้ หรือมะนาวบางต้นอาจให้ผลผลิตเพียงครั้งเดียวหลังจากนั้นต้นก็จะตายไป และบางวิธีก็สิ้นเปลืองแรงงานไม่เหมาะที่จะปฏิบัติต่อมะนาวที่ปลูกไว้เป็นจำนวนมากๆ แต่บางวิธีนั้นพบว่า ยังมีเกษตรกรใช้ปฏิบัติกันอยู่ ในการผลิตมะนาวนอกฤดู
เทคนิคและวิธีการในการผลิตมะนาวนอกฤดู ตามที่ทางรายการสาระความรู้ทางการเกษตรได้ศึกษาจากเอกสารของท่าน ผศ.ดร.รวี เสรฐภักดี หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาไม้ผลเขตกึ่งร้อน สถานบันวิจัยและพัฒนา แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แนะนำวิธีการผลิตมะนาวนอกฤดูไว้ว่า จะต้องมีการเตรียมความพร้อมให้กับต้นมะนาว เพื่อใช้สำหรับชักนำให้ออกดอกและติดผลนอกฤดู ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้หลายเทคนิควิธีการเข้ามาใช้ร่วมกัน แต่ต้องคำนึงถึงความสมบูรณ์ของต้นเป็นปัจจัยหลัก
เพราะนอกจากจะเป็นการกำจัดดอกและผลอ่อนออกไปได้บางส่วนแล้ว ยังเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้มีการผลิยอดอ่อนใหม่ที่ค่อนข้างสม่ำเสมออีกด้วย ภายหลังจากการตัดแต่งแล้ว ดอกและผลอ่อนที่เหลือยังสามารถใช้สารควบคุมการเจริญเติบโต หรือฮอร์โมนเข้ามาช่วยได้ สารเหล่านี้เท่าที่มีรายงานผลการทดลองใช้นั้นมีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน คือ NAA เข้มข้น 2000 ppm
วิธีการเตรียม NAA เข้มข้น 200 ppm จะเตรียมจาก NAA 4.5 % จำนวน 888 cc ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ซึ่งความเข้มข้นขนาดนี้สามารถผลิดผลอ่อนในระยะกลีบดอกโรยและระยะที่มีผลอายุ 2-3 สัปดาห์ได้ดีกว่าในระยะที่เป็นตาดอกและระยะดอกบาน อย่างไรก็ตามการใช้ NAA ในความเข้มข้นระดังนี้ไม่สามรถกำจัดดอกและผลอ่อนให้หมดไปได้ตามต้องการ และการใช้ความเข้มข้นที่สูงกว่านี้ก็าอาจจะเกิดความเป็นพิษกับต้นมะนาวได้
สารควบคุมการเจริญเติบโตอีกชนิดหนึ่ง ที่ใช้ในการปลิดดอกและผลอ่อนของมะนาว คือ อีธิฟอน(ethephon) ในระดับความเข้มข้น 200 ppm สามารถกำจัดดอกและผลได้อย่างดีมาก สำหรับประสิทธิภาพของการปลิดทั้งดอกและผลอ่อนมีถึงกว่า 90% และระยะที่สามารถปลิดได้ดีที่สุดหรือปลิดได้อย่างสมบูรณ์ (100%) คือระยะดอกบาน
ส่วนผลอ่อนที่มีอายุมากกว่า 1 เดือน ขึ้นไปหรือมีผลที่มีขนาดใหญ่แล้วไม่สามารถปลิดได้ การใช้ความเข้มข้นสูงประมาณ 400 ppm สามารถปลิดดอกและผลอ่อนได้ 100% แต่ผลข้างเคียงมีค่อนข้างมาก คือ ทำให้ใบร่วงและเกิดอาการยางไหลได้ และใบที่มีผลกระทบต่อการใช้สารเคมีนี้มากที่สุดคือใบที่มีสภาพไม่ค่อยสมบูรณ์ เช่น ใบที่มีโรคแคงเกอร์และหนอนชอนใบเข้าทำลาย มักจะมีการร่วงหล่นในระดับที่สูงมาก อย่างไรก็ตามการใช้สารนี้หากใช้ในระยะที่มีแดดจัดอาจทวีความรุนแรงมากขึ้นได้ ดังนั้นระดับที่สมควรใช้จึงอยู่ที่ 300 ppm เท่านั้น
การยับยั้งการออกดอกของต้นมะนาวในฤดู เมื่อทำการปลิดดอกและผลอ่อนของมะนาวออกหมดแล้ว หากยังไม่ถึงช่วงฤดูกาลของการชักนำการออกดอก ก็จำเป็นที่จะต้องยึดระยะนี้ให้ห่างออกไปได้สำหรับสารควบคุมการเจริญเติบโตที่มีชื่อว่า "จิบเบอเรลลิกแอชิด" หรือเรียกสั้น ว่า "GA" นั้นมีคุณสมบัติช่วยเสริมการเจริญเติบโตทางกิ่ง ใบ ในไม้ยืนต้น หรือมีผลในการยับยั้งการออกดอก หากฉีดพ่นให้กับมะนาวในระยะก่อนผลิยอดอ่อนหรือระยะที่เพิ่งได้ใบไม่ยาวกว่า 3 นิ้ว จะสามารถยับยั้งการออกดอกได้เป็นอย่างดี หากพ่น "GA" ช้ากว่านี้จะไม่สามารถหยุดยั้งได้ เนื่องจากยอดมีการสร้างตาดอกขึ้นมาแล้ว
การกำจัดใบ มีความเข้าใจผิดว่า หากปลิดใบหรือรูดใบของต้นมะนาวออกจนเหลือแต่กิ่งจะชักนำให้ต้นมะนาวมีการออกดอก จริงอยู่แม้ว่าต้นมะนาวจะออกดอกได้ก็ตาม แต่คุณภาพของดอกจะเป็นดอกที่เกิดจากกิ่งไม่มีใบ ซึ่งจัดเป็นดอกที่อยู่ในระดับเลวที่สุด และยังกระทบถึงความสมบูรณ์ของต้นเป็นอย่างมากอีกด้วย เนื่องจากต้นไม่มีใบอันเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ในการสร้างอาหารจาการสังเคราะห์แสง และยังส่งผลให้มีการติดผลค่อนข้างต่ำด้วย
ส่วนต้นมะนาวที่สมบูรณ์มาก หรือมีลักษณะที่เรียกว่า "บ้าใบ" การปลิดใบออกบ้างบางส่วนอาจจะมีผลในด้าน เป็นการไปลดระดับไนโตรเจนในต้นให้ลดต่ำลง ซึ่งจะช่วยให้มีการออกดอกดีขึ้นได้
การใช้สารเคมี ในปัจจุบันสารเคมีที่ใช้สำหรับการชักนำการออกดอกมะนาวได้ยังไม่มี แต่สารในกลุ่มชะลอการเจริญเติบโต เช่น พาโคลบิวทราโซล , อะลาร์ และสารอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารพาโคลบิวทราโซล มีบทบาทในการยับยั้งการสังเคราะห์ GA ในธรรมชาติ ดังนั้นพืชจึงมีการเจริญเติบโตทางกิ่งใบลดลง ส่งผลให้มีโอกาสในการออกดอกมากขึ้น
อย่างไรก็ตามจากรายงานทางการวิจัยยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า สารนี้จะมีผลต่อการออกดอกของมะนาว แต่ก็มีข้อควรระวังในการใช้สารเหล่านี้ คือผลข้างเคียงที่อาจทำให้ต้นมะนาวตายได้
24 @สงวนสิขสิทธิ์โดย สวนมะนาวท้ายไร่ จังหวัดพิจิตร